อุณหภูมิการลงทุนในตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอีก 0.33% เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 สกุลเงินที่สำคัญของโลก The dollar index เพิ่มขึ้นแตะระดับ 89.488 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 0.6%
ตลาดยังคงกังวลกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ภายหลังอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างแรง รวมทั้งกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดที่อาจจะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์
โดยในช่วงแรก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 2.885% อันนับเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2014 หรือในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯรายงานยอดการจ้างงานที่ออกมาดีกว่าที่คาด รวมทั้งอัตราการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นมากที่มากที่สุดนับตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2009
อย่างไรก็ตาม ในช่วงใกล้ปิดตลาดนิวยอร์ก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯลดลง หลังจากที่นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากตลาดสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นทั้งในยุโรปและนิวยอร์ก ลดลงอย่างรุนแรง โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลงถึง 1,175 จุด รวมทั้ง S&P500 ที่ลดลงกว่า 4% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงจากแรงซื้อดังกล่าว โดยอัตรผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาลดลง 19 เบสิสพอยท์ ลงมายืนที่ระดับ 2.702 เมื่อใกล้ปิดตลาดนิวยอร์ก แต่ก็ยังนับว่า เป็นระดับที่สูงเป็นอย่างมาก สะท้อนสัญญาณถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงสะท้อนสัญญาณของการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์โดย ISM รายงานผลการสำรวจธุรกรรมทางด้านซัพพลาย(ISM)ของภาคการบริการซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 3.9 พอยท์ ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.9 สูงที่สุดนับตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2005 หรือในรอบ 13 ปีเลยทีเดียว สะท้อนสัญญาณของการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯและดีที่สุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา
เงินยูโรอ่อนค่าลง 0.39% เมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯลงไปซื้อขายที่ระดับ 1.2412 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ยูโร
ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง 0.56% ลงไปยืนที่ระดับ 109.48 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบทำระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน
ค่าเงินบาทของไทย ลงไปซื้อขายที่ระดับ 31.64 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการอ่อนค่าลงแรงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยืนซื้อขายที่ระดับ 31.41 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น จากแรงขายหุ้นออกมาอย่างหนักของนักลงทุนต่างชาติถึงกว่า 5 พันล้านบาทในวันเดียวเมื่อวันก่อนหน้านี้ รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง