ตัวเลขเศรฐกิจจีนสําหรับเดือนกรกฏาคมที่เผยแพร่ในวันที่ 14 สิงหาคมนั้น ส่วนใหญ่ต่ำกว่าความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดด้านอุปสงค์หรือด้านอุปทาน โดยในเดือนกรกฏาคมนั้น ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 6.4% YoY ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของ Bloomberg ที่ 7.1% และยังเป็นการชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตที่ 7.6% YoY ในเดือนมิถุนายนอีกด้วย ยอดค้าปลีกภายในประเทศปรับตัวขึ้น 10.4% YoY ซึ่งต่ำกว่าระดับ 10.8% ที่ Bloomberg คาดการณ์และต่ำกว่าอัตราการเติบโตที่ 11% YoY ในเดือนมิถุนายน ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรนั้น ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2560 มีการขยายตัว 8.3% YoY ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจเหล่านี้ส่งสัญญาณสะท้อนถึงโมเมนตัมเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่อ่อนแรงลง
นอกจากนี้ การส่งออกในเดือนกรกฎาคมยังขยายตัวเพียง 7.2% YoY ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 11.0% YoY ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 11.0%และ 18.0% ตามลำดับ และยังการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าอีกด้วย โดยมูลค่าการส่งออกของเดือนมิถุนายนได้เพิ่มขึ้น 11.3% YoY ส่วนมูลค่านำเข้าเติบโต 17.2% YoY ทั้งนี้ ตามที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้กล่าวถึงในบทวิเคราะห์ฉบับก่อนหน้าว่า แรงขับเคลื่อนเศรฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 นั้น หลักๆ มาจากการส่งออกที่เติบโตอย่างโดดเด่น
ดังนั้น การที่ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนแรงลงเช่นนี้ ช่วยเสริมภาพถึงแนวโน้มเศรฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ที่น่าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำย้ำถึงอุปสงค์ที่อ่อนแรงลง โดยทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต (CPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) สำหรับเดือนกรกฎาคมต่ำกว่าการคาดการณ์ของ Bloomberg โดย CPI ปรับตัวขึ้นเพียง 1.4% YoY เทียบกับคาดการณ์ที่ 1.5% ส่วน PPI ก็ปรับตัวขึ้น5.5% YoY เมื่อเทียบกับ 5.6% ตามการคาดการณ์ ทั้งนี้ แม้ PPI จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ทว่า ก็ยังคงเป็นอัตราที่ต่ำกว่าระดับสูงสุดของปีที่ 7.8% YoY ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
ทั้งข้อมูลจากภาคเศรฐกิจจริงและด้านราคา ต่างก็บ่งบอกถึงแนวโน้มที่เศรฐกิจจีนจะชะลอตัวลง และเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นสำหรับช่วงปีที่เหลือ ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 19 (19th National Congress of the Communist Party) ซึ่งนับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจที่สำคัญ ทำให้คาดว่าทางการจีนจะหันมาให้ความสำคัญกับการประคองการเติบโตเศรษฐกิจจีนในช่วงหลังจากนี้ และทางการจีนเองคงจะมีท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง อันรวมถึงการควบคุมความเสี่ยงด้านภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้สินของภาคธุรกิจ และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ผ่านการดำเนินนโยบายแบบ Macro Prudential และการคุมเข้มภาคการเงิน เนื่องจากอาจซ้ำเติมโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงแรงกว่าที่คาด ประกอบกับสถานการณ์ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย โดยยอดการขายบ้าน (Housing Sales) ในเดือนกรกฎาคมได้ปรับขึ้นเพียง 4.3% YoY เทียบกับอัตราการเติบโตที่ 10.1% 12.6% และ 26.4% ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน (ตามลำดับ) ในขณะที่ อัตราการสร้างบ้านใหม่หดตัวลง 3% YoY ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่กันยายน 2559
ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองว่า ธนาคารกลางจีนจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปี2560 จากความกังวลเรื่องความเติบโตของเศรษฐกิจ และคงไม่ปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio หรือ RRR) ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ มาตรการอื่น ๆ ที่ทางการเคยนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Debt-to-Equity Swap ก็สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์และขีดจำกัดในทางปฎิบัติ ดังจะเห็นได้จากการที่มูลค่าสัญญา debt-to-equity swaps ของภาคธุรกิจในปัจจุบัน ได้ถึงเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่1 ล้านล้านหยวนนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ด้วยข้อมูลดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่อยู่ในเกนฑ์ที่อ่อนแรงลง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทางการจีนจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินมาตรการต่างๆในการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการเติบโตของหนี้ภาคธุรกิจ และมุ่งเป้านโยบายเศรษฐกิจไปในเชิงการประคองโมเมนตัมเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ในช่วงปีที่เหลือ และการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ผ่านไปได้ด้วยดีแล้ว ทางการจีนคงจะเริ่มดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้นในระยะต่อไป